\ ข่าวพระเครื่อง คมเลนส์ส่องพระ7กรกฎาคม2556 - พระเครื่อง มณเฑียร : พระเครื่อง มณเฑียร
เว็บพระมณเฑียร ศูนย์รวม ร้านค้าพระเครื่อง ยอดนิยม ในการซื้อขายแลกเปลี่ยน พระเครื่อง พระบูชา วัตถุมงคลต่างๆ
พระเครื่อง พระมณเฑียร  พระมณเฑียร  ͧ   สมัครเปิดร้าน  ͧ   พระเครื่องมาใหม่  พระเครื่อง พระมณเฑียร   ข่าวพระเครื่อง/บทความ พระเครื่อง พระมณเฑียร    ร้านพระเครื่อง พระเครื่อง พระมณเฑียร  ติดต่อ    ค้นหาพระ:   ENG Version











คมเลนส์ส่องพระ7กรกฎาคม2556

วันอาทิตย์ที่ 7 กรกฎาคม 2556

คมเลนส์ส่องพระ7กรกฎาคม2556

คมเลนส์ส่องพระวันอาทิตย์ที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2556 : แล่ม จันท์พิศาโล

••• วันอาทิตย์ที่ ๑๔ ก.ค.๒๕๕๖ นี้มี งานประกวดพระ ที่ศูนย์ประชุม ไบเทคบางนา จัดโดย โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ร่วมกับ มูลนิธิโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า พระที่จัดประกวดมีครบทุกประเภท รวม ๖๗ โต๊ะ ๒,๓๗๕ รายการ รางวัลพระชนะเลิศแต่ละรายการ หนังสือ อาณาจักรพระกริ่งพระชัยวัฒน์ ๖๐ ปี โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า จัดทำโดย ศุภชัย เรืองสรรงามสิริ (ตี๋เหล้า ท่าพระจันทร์) ค่าส่งพระเข้าประกวดองค์ละ ๓๐๐ บาท (ไม่ใช่ ๔๐๐ บาทตามที่ลงไว้ในหนังสือสูจิบัตร)...ถ่ายภาพชนะการประกวดโดยทีมงาน ล้ง ท่าพระจันทร์ เจ้าเดียวในทุกวันนี้ที่ได้รับความไว้วางใจจากผู้จัดงาน เพราะมีอุปกรณ์การถ่ายภาพจำนวนมากและทันสมัยที่สุด

•• สูจิบัตร งานประกวดพระครั้งนี้มีภาพ พระพุทธรูป ที่มีความสวยสมบูรณ์คมชัดหลายองค์ที่น่าสนใจศึกษาในเรื่องพุทธศิลป์ คมเลนส์ส่องพระ วันนี้จึงขอนำมาลงให้ชมเป็นวิทยาทาน ๑ องค์ คือ พระพุทธรูปสมัยเชียงแสน สิงห์หนึ่ง หน้าตักกว้าง ๑๓ นิ้ว พระพุทธรูปรุ่นนี้ถือเป็นประติมากรรมในดินแดนสุวรรณภูมิที่สร้างขึ้นโดยฝีมือช่างไทยเป็นครั้งแรก เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖-๒๑ มีปรากฏแพร่หลายตามหัวเมืองต่างๆ ทางภาคเหนือของไทย แหล่งสำคัญอยู่ที่ เมืองเชียงแสน แบ่งได้เป็น ๒ ยุค คือ เชียงแสนยุคแรก (สิงห์หนึ่ง) มีการสร้าง พระพุทธรูป ที่มีพุทธลักษณะคล้ายพระพุทธรูปอินเดีย สมัยราชวงศ์ปาละ มีพระวรกายอวบอ้วน พระพักตร์กลมคล้ายผลมะตูม พระขนงโก่ง พระนาสิกโค้งงุ้ม พระโอษฐ์แคบเล็ก พระหนุเป็นปม พระรัศมีเหนือเกตุมาลาเป็นต่อมกลม ไม่นิยมทำไรพระศก เส้นพระศกขมวดเกศาใหญ่ พระอุระนูน ชายสังฆาฏิสั้น ตรงปลายสังฆาฏิมีลักษณะเป็นชายธงม้วนเข้าหากัน เรียกว่า “เขี้ยวตะขาบ” ส่วนใหญ่เป็นพระพุทธรูปประทับนั่งขัดสมาธิเพชร ปางมารวิชัย ฐานที่รององค์พระทำเป็นกลีบบัวประดับ มีทั้งบัวคว่ำบัวหงาย และทำเป็นฐานเขียงไม่มีบัวรองรับก็มี

•• ช่วงนี้ผู้คนทุกวงการบ่นกันว่า เศรษฐกิจไม่ดี การค้าซบเซา ของขายไม่ได้ รวมทั้งในวงการพระก็มีเสียงบ่นทำนองนี้ ทั้งเซียนใหญ่เซียนเล็กเหมือนกันหมด แต่ คมเลนส์ส่องพระ ก็ยังคงได้รับภาพ พระหลักยอดนิยม อยู่เสมอ อย่างเช่น พระสมเด็จ พิมพ์เส้นด้าย กรุบางขุนพรหม จาก ป๋อง สุพรรณ องค์นี้เป็นพระฟอร์มสวย คมชัดทุกซอกมุม มีคราบกรุบางๆ พอให้เห็นเป็นเสน่ห์ชวนมอง เส้นนูนของพระพิมพ์นี้มีลักษณะบอบบาง เหมือน เส้นด้าย อันเป็นที่มาของชื่อพระพิมพ์นี้ จุดเด่นอีกจุดหนึ่ง คือ วงแขนที่ประสานในลักษณะนั่งสมาธิจะมีลักษณะเป็นวงกลมมากกว่าพระสมเด็จพิมพ์อื่นๆ ความสวยสมบูรณ์ของพระองค์นี้สนนราคาอยู่ที่กว่า ๓.๕ ล้านบาทขึ้นไป •• พระซุ้มกอ ๑ ใน ๕ ของพระชุดเบญจภาคียอดนิยม เป็นพระที่มีพุทธศิลป์สมัยสุโขทัยผสมลังกา (อายุกว่า ๗๐๐ ปี) ที่เรียกว่า พระซุ้มกอ ก็ด้วยเหตุที่ว่า พระพิมพ์นี้มีกรอบโค้งมนเหมือนกับตัวอักษร ก.ไก่ อันเป็นที่มาของชื่อ พระซุ้มกอ ขุดพบตามบริเวณวัดต่างๆ ที่อยู่ในเขตทุ่งเศรษฐี เมืองกำแพงเพชร อาทิ วัดบรมธาตุ วัดพิกุล วัดฤาษี ฯลฯ พระซุ้มกอ มี ๕ พิมพ์ คือ ๑.พิมพ์ใหญ่ มีกนกข้างและไม่มีกนกข้าง ที่ไม่มีกนกข้างส่วนใหญ่จะเป็นพระเนื้อสีดำ หรือสีน้ำตาลแก่ ที่เรียกว่า พระซุ้มกอดำ ๒.พิมพ์กลาง ๓.พิมพ์เล็ก ๔.พิมพ์เล็กพัดโบก และ ๕.พิมพ์ขนมเปี๊ยะ พุทธศิลป์การออกแบบ พระซุ้มกอ นับเป็นฝีมือช่างชั้นปรมาจารย์อย่างแท้จริง โดยเฉพาะ พระซุ้มกอ พิมพ์ใหญ่ ที่มีลวดลายงดงามอลังการมาก...สำหรับภาพที่เห็นนี้ คือ พระซุ้มกอ พิมพ์ใหญ่ เนื้อสีดำ ที่เรียกว่า พระซุ้มกอดำ พบเห็นยาก เพราะมีน้อย องค์นี้เป็นพระของ อ.ต้อย เมืองนนท์ อุปนายกสมาคมผู้นิยมพระเครื่องบูชาไทย

•• พระหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า ยังคงเป็นพระอมตะนิรันดร์กาล ที่นักสะสมพระเครื่องทุกคนจะต้องแสวงหามาขึ้นคอให้ได้อย่างน้อย ๑ องค์ พระหลวงปู่ศุข มีหลายพิมพ์หลายรุ่นหลายเนื้อ ที่เป็นเอกลักษณ์โดยเฉพาะของท่านคือ พิมพ์สี่เหลี่ยมซุ้มประภามณฑล ข้างรัศมี ซึ่งนิยมสูงสุด อย่างองค์ที่เห็นนี้เป็นพิมพ์พิเศษ คือ หน้าใหญ่ เนื้อทองแดงเถื่อน สวยสมบูรณ์คมชัดมาก เป็นพระสภาพเดิมๆ ไม่ได้ผ่านการใช้มาก่อนเลย ความสวยระดับนี้ต้องมีเงินหลายแสนบาทถึงจะมีสิทธิ์นิมนต์ขึ้นคอ เป็นพระของ ดวงทิพย์ วรอภิญญาภรณ์ นักธุรกิจเจ้าของกิจการโรงสี จ.ชัยนาท, พิจิตร, นครสวรรค์ และกาฬสินธุ์ ผู้นิยมสะสมพระเครื่องของ จ.ชัยนาท ถือว่าเป็นพระบ้านเกิดตัวเอง จึงไม่ต้องสงสัยว่า ทำไมถึงมี พระหลวงปู่ศุข สวยแชมป์ขนาดนี้อยู่ในครอบครอง

•• ชั่วโมงนี้ พระหลวงพ่อทวด วัดช้างให้ ส่วนใหญ่ผู้คนสนใจกันแต่ รุ่นหลังเตารีด หลังตัวหนังสือ หรือเหรียญรุ่นต่างๆ ด้วยเหตุผลว่า ดูง่ายกว่า พระเนื้อว่าน ในขณะที่คนในท้องถิ่นส่วนใหญ่ยังนิยมชมชอบ พระเนื้อว่าน เหมือนเดิม เพราะมีหลักการดูที่มีจุดยุติลงตัว...พระเนื้อว่าน ที่นิยมกันมาก คือ พิมพ์ใหญ่ พิมพ์กรรมการ และ พิมพ์พระรอด ซึ่งมีการเช่าหาในราคาสูง ในขณะที่ พิมพ์กลาง พิมพ์ต้อ ฯลฯ กลับถูกเมิน ได้รับความนิยมน้อยกว่า ราคาก็ถูกกว่า แต่สำหรับ พระหลวงพ่อทวด เนื้อว่าน ๒๔๙๗ พิมพ์กลาง องค์ที่เห็นนี้ คงต้องเป็นข้อยกเว้นในการจัดอันดับความพอใจของคนสะสมพระสายนี้ เพราะ พระหลวงพ่อทวด พิมพ์กลาง องค์นี้เป็นพิมพ์กลางพิเศษ คือ หลวงพ่อทวดมีดวงตาที่เห็นชัดเจน วงการเรียกพระพิมพ์นี้ พิมพ์กลางมีลูกตา พบเห็นยาก เพราะมีน้อย โดยเฉพาะพระองค์นี้สวยสมบูรณ์คมชัดมาก พระสภาพนี้สนนราคาต้องมีหลักแสนปลายขึ้นไป เป็นพระเก่าเก็บของ ตู่ บางนรา แห่ง บริษัท พรธวัชรับเบอร์วู้ด จำกัด อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ผู้นิยมสะสมพระสายนี้มานานปี เพราะเป็นพระบ้านเกิดตัวเอง

•• รศ.ดร.นำยุทธ สงค์ธนาพิทักษ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี กล่าวว่า มทร.ธัญบุรี กำหนดประกอบพิธีเททองหล่อ พระพุทธรูป ขนาดหน้าตัก ๔๕ นิ้ว ในวันอาทิตย์ที่ ๑๔ ก.ค.๕๖ เวลา ๑๒.๕๙ น. เพื่อประดิษฐานไว้ที่มหาวิทยาลัย ให้ผู้บริหาร คณาจารย์ บุคลากร เจ้าหน้าที่ นักศึกษา และพุทธศาสนิกทุกคน ได้กราบไหว้บูชาเพื่อเป็นสิริมงคล และเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ จึงขอเชิญนักศึกษา, ศิษย์เก่า และพุทธศาสนิกทั่วไปเข้าร่วมพิธีดังกล่าว หากท่านผู้ใดมีชนวนมวลสาร หรือแผ่นทองลงอักขระเลขยันต์ที่จะร่วมบริจาคเพื่อหล่อพระพุทธรูปดังกล่าว หรือร่วมบริจาคเงินสมทบทุนการจัดสร้าง มหาวิทยาลัยยินดีน้อมรับด้วยความขอบพระคุณยิ่ง ติดต่อสอบได้ที่กองประชาสัมพันธ์ มทร.ธัญบุรี โทร.๐-๒๕๔๙-๔๙๙๐ ถึง ๔ หรือที่ www.rmutt.ac.th

•• งานประกวดพระ ที่ โรงเรียนวัดไร่ขิง จ.นครปฐม เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ยอดขายบัตรลงทะเบียนพระได้เงินรวม ๒,๔๗๘,๐๐๐ บาท, ยอดบริจาค แผงพระ และสปอนเซอร์ ๑,๓๓๙,๙๒๐ บาท รวมเป็นเงินทั้งหมด ๓,๘๑๗,๙๒๐ บาท ... สำหรับหนังสือที่แจกเป็นรางวัลพระชนะเลิศแต่ละรายการงานนี้ คือ หนังสือ หลวงพ่อน้อย วัดธรรมศาลา จัดทำโดยทีมงานนิตยสาร พระท่าพระจันทร์ ต้องยอมรับว่า จัดทำได้ดีเยี่ยม ทั้งในเรื่องประวัติหลวงพ่อและภาพพระเครื่องรุ่นต่างๆ ที่ลงไว้อย่างครบถ้วน ภาพชัดสวยทุกองค์ ถือเป็น พระองค์ครู ได้เลย คุ้มค่าจริงๆ วันที่ประกวดพระมีการซื้อขายหนังสือเล่มนี้ถึงเล่มละ ๑,๕๐๐ บาท มาทุกวันนี้ต้องกว่า ๑,๘๐๐ บาทขึ้นไป...ท่านที่สนใจหนังสือจากงานประกวดพระทุกงานที่ผ่านมา ติดต่อสอบถามได้ที่ “ประภาศรี” โทร.๐๘-๙๑๔๔-๔๓๘๔ รับจัดส่งทางไปรษณีย์ ขอบอกว่า หนังสือประเภทนี้ส่วนใหญ่พิมพ์ไม่เกิน ๓,๕๐๐ เล่ม เซียนพระทุกคนต้องมีไว้ประจำตัว ที่สำคัญคือหนังสือประเภทนี้ไม่มีจำหน่ายทั่วไป ราคาหนังสือจะแพงขึ้นเรื่อยๆ เมื่อวันเวลาผ่านไปจะกลายเป็นหนังสือหายาก เพราะจะไม่มีการพิมพ์ซ้ำขึ้นมาอีก

•• ทุกครั้งที่ผู้เขียนกลับไปเยี่ยมบ้านที่หาดใหญ่ จะต้องได้พบกับ ประยูร ชีวะเสรีชล (หลวงยูร) ผู้มีความรอบรู้ในเรื่องของ พระคณาจารย์สายใต้ ท่านไหนเก่งจริง น่าเคารพศรัทธาเลื่อมใส ก็จะพาไปกราบไหว้ด้วยความสบายใจ ที่ได้พบ พระแท้ ของจริงที่ไม่ต้องอาศัย “สื่อ” โฆษณา “หลวงยูร” เคยบวชอยู่กับ พ่อท่านร่วง วาจาสิทธิ์ วัดศาลาโพธิ์ ช่วงนั้นได้เรียนรู้วิชาอาคมต่างๆ ถ้าไม่สึกออกมาเสียก่อน ป่านนี้คงเป็น พระเกจิอาจารย์ชื่อดัง ไปแล้ว...ทุกวันนี้ “หลวงยูร” กับพี่ๆ น้องๆ รับจัด โต๊ะจีน ในตัวเมืองหาดใหญ่และละแวกใกล้เคียง ส่วนใหญ่เป็นงานมงคลสมรส อาหารที่ได้รับการยกย่องว่า ล้ำเลิศ อร่อยมาก คือ เคาหยก สูตรจีนแคะ ทำจากหมูสามชั้นมันน้อยกับผักกาดแห้ง ปรุงรสด้วยสูตรพิเศษจากเมืองจีน รสชาติจึงเข้มข้น จนคนที่เคยไปรับประทานในงานเลี้ยงมาแล้ว เรียกร้องให้ “หลวงยูร” ทำขายในวันปกติบ้าง ปรากฏว่าเมื่อทำออกขายก็มีผู้สั่งซื้อทุกวัน ผู้เขียนเองเมื่อไปหาดใหญ่จะต้องหอบ “เคาหยกหลวงยูร” ขึ้นเครื่องกลับกรุงเทพฯ ๑๐ ถุงเสมอ เพราะติดใจในรสชาติที่เหนือกว่า เคาหยก ร้านดังใน กทม. วันนี้ขอทำหน้าที่ คมเลนส์ชวนชิม สักวัน...บ้านของ “หลวงยูร” อยู่ที่ตลาดบ้านพรุ ห่างจากหาดใหญ่ไม่ไกลนัก สอบถามโทร.๐๘-๔๖๓๑-๘๒๘๒ •• พบกับ คมเลนส์ส่องพระ ได้ทุกวันเสาร์และวันอาทิตย์ ขอขอบพระคุณ ทุกท่านที่ติดตามอ่านคอลัมน์นี้พร้อมทั้งคำแนะนำและกำลังใจ มาโดยตลอด...นะมัสเต •••


ข้อมูลจาก http://www.komchadluek.net



  พระเครื่อง มณเฑียร   สงวนลิขสิทธิ์ เนื้อหาทั้งหมดตั้งแต่ปี 2011 ชมรมพระเครื่อง มณเฑียร   พระเครื่อง มณเฑียร  
 
พระเครื่อง มณเฑียร เว็บไซด์ : พระมณเฑียร : WWW.PRAMONTIEN.COM   พระเครื่อง มณเฑียร