\ ข่าวพระเครื่อง คมเลนส์ส่องพระ1กันยายน2556 - พระเครื่อง มณเฑียร : พระเครื่อง มณเฑียร
เว็บพระมณเฑียร ศูนย์รวม ร้านค้าพระเครื่อง ยอดนิยม ในการซื้อขายแลกเปลี่ยน พระเครื่อง พระบูชา วัตถุมงคลต่างๆ
พระเครื่อง พระมณเฑียร  พระมณเฑียร  ͧ   สมัครเปิดร้าน  ͧ   พระเครื่องมาใหม่  พระเครื่อง พระมณเฑียร   ข่าวพระเครื่อง/บทความ พระเครื่อง พระมณเฑียร    ร้านพระเครื่อง พระเครื่อง พระมณเฑียร  ติดต่อ    ค้นหาพระ:   ENG Version











คมเลนส์ส่องพระ1กันยายน2556

คมเลนส์ส่องพระ1กันยายน2556

คมเลนส์ส่องพระวันอาทิตย์ที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2556 : แล่ม จันท์พิศาโล

••• จากการประชุมใหญ่ของ สมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย (เมื่อ ๗ ส.ค.๕๖) พยัพ คำพันธุ์ นายกสมาคมและคณะกรรมการ ได้กำหนดเงื่อนไขและมาตรฐานของการจัดงานประกวดพระฯ ขึ้นใหม่เพื่อให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น จึงสรุปว่า การจัดงานประกวดพระที่ สมาคมให้การรับรอง ไม่ควรจะเกิน ๒ ครั้งต่อเดือน หรือปีละไม่ควรเกิน ๒๕ ครั้ง นอกจากนี้ยังมีโครงการจัดสวัสดิการให้กับคณะกรรมการรับพระ-ตัดสินพระ และทีมงาน โดย ๑.จัดทำประกันชีวิต ๒.ให้การช่วยเหลือกรณีเจ็บป่วย ๓.กรณีเสียชีวิต...สำหรับเงินกองทุนนี้ สมาคมจะได้มาจาก ๑.เงินค่าใช้จ่ายจากการจัดงานประกวดพระขององค์กรต่างๆ ครั้งละ ๒ แสนบาท ๒.การจัดงานออกใบรับรองพระแท้ หรืองานประกวดพระที่จัดโดยสมาคม...กฎกติกานี้จะเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๕๗ เป็นต้นไป...กล่าวโดยสรุป...ในส่วนของ การจัดงานประกวดพระ ขององค์กรต่างๆ ที่ให้ สมาคมสนับสนุนการจัดงาน จะต้องจ่ายเงินให้สมาคมครั้งละ ๒ แสนบาท เพื่อนำไปใช้จ่ายในโครงการสวัสดิการของสมาชิกสมาคมต่อไป

•• คมเลนส์ส่องพระ วันนี้ขอเริ่มด้วย พระพุทธรูปสุโขทัย ศิลปะตะกวน ซึ่งเป็นยุคแรกของ พระพุทธรูปสมัยสุโขทัย ที่ยังได้รับอิทธิพลของศิลปะอื่นผสมผสานอยู่ด้วย รวมเรียกว่า ศิลปะตะกวน เป็นการเรียกตามชื่อ วัดตะกวน ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่ในบริเวณเมืองเก่าสุโขทัย (คำว่า “ตะกวน” เป็นภาษาเขมร แปลว่า “ผักบุ้ง”) วัดแห่งนี้เป็นสถานที่พบพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะแปลกจากที่พบเห็นโดยทั่วไปในเมืองสุโขทัย จึงเรียกชื่อพระพุทธรูปนี้ว่า พระพุทธรูปสุโขทัย ศิลปะตะกวน พุทธลักษณะเป็นพระพุทธรูปประทับนั่ง ปางมารวิชัยแบบขัดราบ บนอาสนะแบบฐานเขียง พระเกศเป็นแบบเปลวสูง เม็ดพระศกเป็นแบบก้นหอยขนาดเล็ก พระเศียรเป็นกระพุ้ง พระเนตรหลุบต่ำ พระนาสิกโด่งงุ้มลงเล็กน้อย พระโอษฐ์แย้มเล็กน้อย พระพักตร์กลมแบน พระนลาฏค่อนข้างเล็กและแคบ พระกรรณยาวแต่ไม่จรดพระอังสา และช่วงปลายโค้งงอน พระวรกายเว้าแบบมีทรง พระกรทั้งสองข้างแสดงปางมารวิชัย ทอดลงมาที่พระเพลาอย่างอ่อนช้อย และเล่นนิ้วพระหัตถ์แต่พองาม พระสังฆาฏิทอดยาวลงมาเสมอพระนาภี ปลายแตกเป็นเขี้ยวตะขาบ ฐานเขียงบางและแคบ...หลังจากนั้นมา...ฝีมือช่างปั้นพระพุทธรูปก็ได้รูปแบบพุทธศิลป์เป็นของตัวเอง คือ พระพุทธรูปสุโขทัยบริสุทธิ์ ซึ่งมีพุทธลักษณะที่งดงามอ่อนช้อยมาก พระพักตร์อิ่มเอิบเปี่ยมไปด้วยพระเมตตาอย่างแท้จริง...สำหรับ พระพุทธรูปสุโขทัย ศิลปะตะกวน องค์ในภาพนี้มีขนาดหน้าตักกว้างประมาณ ๑๒ นิ้ว เป็นสมบัติของ อ.ต้อย เมืองนนท์ รองนายกสมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย ผู้ชำนาญการพิจารณาพระพุทธรูปทุกยุคทุกสมัย

•• พระหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า จ.ชัยนาท นับเป็นพระเครื่องที่ได้รับความนิยมสูงมาโดยตลอด และนับวันค่านิยมก็สูงขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นพระพิมพ์ไหนเนื้อใดก็ตาม เพราะมีผู้นิยมแสวงหากันมาก โดยเฉพาะพระองค์สวยคมชัดดูง่าย เช่นองค์ที่นำภาพมาให้ชมในวันนี้ คือ พระหลวงปู่ศุข พิมพ์ตัดชิด เนื้อเมฆสิทธิ์ ซึ่งเป็นเนื้อพิเศษ มีจำนวนสร้างน้อยมาก เข้าใจว่าท่านได้ เนื้อเมฆสิทธิ์ นี้มาจาก หลวงปู่ทับ พระลูกวัดอนงคาราม เจ้าตำรับ เนื้อเมฆสิทธิ์ อันโด่งดัง เนื่องจากสมัยนั้น หลวงปู่ศุข ได้รับนิมนต์ไปวัดอนงคารามบ่อยๆ เพราะเจ้าอาวาส คือ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (นวม) ท่านเป็นชาวชัยนาท รู้จักกับ หลวงปู่ศุข เป็นอย่างดี ทำให้ หลวงปู่ศุข ได้รู้จักกับ หลวงปู่ทับ ไปด้วย...เมื่อมีการเททองหล่อพระ หลวงปู่ศุข จึงได้ใช้ เนื้อเมฆสิทธิ์ หล่อพิมพ์พระของท่านด้วย ซึ่งมีจำนวนน้อยมาก จึงพบเห็นยาก องค์ในภาพนี้เป็นพระของ หมอ ท่าแซะ เช่ามากว่าล้านบาท...สุดยอดจริงๆ

•• ตามตำรา เนื้อเมฆสิทธิ์ เป็นเนื้อโลหะพิเศษชนิดหนึ่งที่มีส่วนผสมของแร่ต่างๆ มีสีเขียวมันวาวเหมือนปีกแมลงทับ มีความเปราะ หากทำตกหล่นจะแตกหักง่าย...คนสมัยก่อนเวลามีปัญหาเรื่องดวงชะตาไม่ดี ราศีตก มีปัญหาความยุ่งยากบ่อยๆ มักจะอาราธนา พระเนื้อเมฆสิทธิ์ ขึ้นคอบูชาคู่กับ พระราหู นัยว่าเป็นการเสริมดวงได้ดีนัก เรื่องร้ายๆ จะผ่านไปด้วยดี...วันนี้ก็เลยมี ของคู่กัน มาชมเป็นวิทยาทาน คือ พระราหู หลวงพ่อน้อย วัดศีรษะทอง จ.นครปฐม พระราหูอมจันทร์ หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า พระราหู ของ หลวงพ่อน้อย จะต้องแกะมาจาก กะลาตาเดียว ถ้าเป็น กะลาไม่มีตา ยิ่งดีใหญ่...พระราหู หลวงพ่อน้อย มีหลายฝีมือแกะ ส่วนมากมีความละเอียดสวยคมชัดพอๆ กัน แต่ที่เป็นเอกลักษณ์สำคัญคือ ลายมือลงเหล็กจารของท่าน จะเหมือนกันหมด...พระราหูอมจันทร์ ที่เห็นนี้เลี่ยมจับขอบด้วยเนื้อนาก โดยฝีมือช่างโบราณสวยงามมาก เป็นสมบัติของ ชรินทร์ สงขลา นักสะสมเหรียญพระเกจิอาจารย์ยุคเก่า มาเห็น พระราหู สุดคลาสสิกอันนี้อดใจไม่ไหวต้องซื้อไว้ด้วยเงินกว่า ๒ ล้านบาท....สบายใจไปเลย

•• วันนี้ยังคงมีภาพจากหนังสือ เหรียญหลวงพ่อทวด วัดช้างให้ จัดทำโดยทีมงานนิตยสาร พระท่าพระจันทร์ เพื่อแจกเป็นรางวัลพระชนะเลิศแต่ละรายการใน งานประกวดพระ จัดโดย อบจ.สมุทรปราการ ร่วมกับ ชมรมพระเครื่องสมุทรปราการ ที่ศูนย์ไบเทค บางนา วันอาทิตย์ที่ ๘ กันยายน ๒๕๕๖ โดยมี หอย ปากน้ำ ประธานชมรมพระเครื่องสมุทรปราการ เป็นผู้ดำเนินงาน...เหรียญแรกคือ เหรียญหลวงพ่อทวด รุ่น ๓ ปี ๒๕๐๔ เนื้อเงินลงยา จัดเป็นรุ่นพิเศษ ขึ้นพิมพ์ใหม่เพื่อปั๊มเหรียญรุ่นนี้โดยเฉพาะ สำหรับ เนื้อเงินลงยา เท่าที่พบมี ลงยาสีแดง และ ลงยาสีเขียว เท่านั้น จำนวนสร้างไม่แน่ชัด แต่มีน้อยมาก นอกจากนี้ยังมี เนื้อทองคำลงยา (เท่าที่พบมีลงยาสีแดง และอาจจะมีลงยาสีเขียวด้วยก็ได้), เนื้ออัลปาก้า และเนื้อทองแดงรมดำ

•• เหรียญที่ ๒ คือ เหรียญรุ่นเลื่อนสมณศักดิ์ ปี ๒๕๐๘ เนื้อเงิน สำหรับ เหรียญหลวงพ่อทวด รุ่นเลื่อนสมณศักดิ์ ปี ๒๕๐๘ นี้ถือเป็น เหรียญต้นแบบ ที่ใช้คำว่า “เลื่อนสมณศักดิ์” เป็นครั้งแรก จนมีผู้นำไปสร้างเลียนแบบมากมายหลายสำนัก นับเป็นเหรียญยอดนิยมสูงสุดเหรียญหนึ่งของ สายหลวงพ่อทวด มีทั้งเนื้อทองคำ (ราคาหลายล้านบาท), เนื้อเงิน (หลักล้านบาท) เนื้อทองแดงรมดำ (หลักล้านต้น) และเนื้ออัลปาก้า (หลักแสนปลาย) นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของ เหรียญหลวงพ่อทวด ที่หายาก พบเห็นน้อย แต่มีภาพอยู่ในหนังสือ เหรียญหลวงพ่อทวด เล่มนี้อย่างครบถ้วน สมบูรณ์ที่สุดเท่าที่มีการจัดพิมพ์มาก่อน โดยเฉพาะเป็น เหรียญแท้แน่นอน เพราะฝีมือการจัดทำของทีมงานนิตยสาร พระท่าพระจันทร์ รับประกันคุณภาพอยู่แล้วทั้งในเรื่องของเหรียญแท้ สวยดูง่าย ระบบการพิมพ์คมชัดเหมือนเหรียญจริงทุกอย่าง...ท่านที่สนใจหนังสือเล่มนี้ อย่าลืมไปร่วมงานประกวดพระครั้งนี้ โดยนำพระสวยๆ ไปส่งประกวดให้ได้รับรางวัลชนะเลิศ ก็จะได้หนังสือเล่มนี้ทันที

•• วางตลาดแล้ว นิตยสาร พุทธคยา ฉบับใหม่ อ่านเรื่อง พระกรุวังหน้า (วัดบวรสถานสุทธาวาส หรือวัดพระแก้ว วังหน้า) และภาพพระแท้ที่เปิดราคาให้เช่าบูชาแบบกันเอง ฯลฯ •• นิตยสาร พระเครื่องอภินิหาร ฉบับที่ ๑๖๕ อัดแน่นด้วยเนื้อหาสาระ ทั้งวิชาการและภาพพระที่น่าสนใจ ข่าวสารแวดวงพระเครื่อง โดยเฉพาะคอลัมน์ “รู้พระรู้ราคาก่อนจะมาเป็นเซียน” ฯลฯ •• นิตยสาร ข่าวพระเครื่อง ฉบับใหม่ อ่านเรื่อง พระหลวงพ่อทวด เรียนรู้ดูพระให้เป็นโดย ฉ่อย ท่าพระจันทร์ ผู้ชำนาญพระหลวงพ่อทวดโดยเฉพาะ พร้อมกับเรื่องราวพระใหม่ที่น่าสนใจ

•• อ่านเรื่อง...ย้อนอดีต...อ.ภิญโญ วัฒนายากร ต้นแบบนักพระเครื่องที่ดีงาม...จากบทความข้างล่างนี้...คงไม่ต้องสงสัยว่า ทำไม ภิยวัฒน์ วัฒนายากร (แต๊ก สงขลา) ถึงได้เป็นผู้ชำนาญในการดูพระเครื่องได้อย่างหลากหลายและแม่นยำมาตั้งแต่สมัยยังเป็นนักเรียน และยังเป็นสุภาพชนผู้มีความอ่อนน้อมถ่อมตน มีสัมมาคารวะต่อผู้หลักผู้ใหญ่อย่างน่าชื่นชม ก็เพราะได้รับการอบรมจาก คุณพ่อ อ.ภิญโญ วัฒนายากร และ คุณแม่ ผู้มีน้ำใจอันประเสริฐนี่เอง...วันพฤหัสบดีที่ ๕ กันยายน นี้ เวลา ๑๖.๐๐ น. เพื่อนพ้องน้องพี่ในวงการพระเครื่องที่รู้จักมักคุ้นกับ แต๊ก สงขลา เป็นอย่างดี จะไปร่วมพิธีพระราชทานเพลิงศพ อ.ภิญโญ วัฒนายากร ณ วัดแหลมทราย อ.เมือง จ.สงขลา โดยพร้อมเพรียงกัน •• พบกับ คมเลนส์ส่องพระ ได้ใหม่ในวันเสาร์และวันอาทิตย์ต่อไป ขอขอบพระคุณ ทุกท่านที่ติดตามอ่านคอลัมน์นี้มาโดยตลอด...นะมัสเต •••


ข้อมูลจาก http://www.komchadluek.net



  พระเครื่อง มณเฑียร   สงวนลิขสิทธิ์ เนื้อหาทั้งหมดตั้งแต่ปี 2011 ชมรมพระเครื่อง มณเฑียร   พระเครื่อง มณเฑียร  
 
พระเครื่อง มณเฑียร เว็บไซด์ : พระมณเฑียร : WWW.PRAMONTIEN.COM   พระเครื่อง มณเฑียร